เจตนาในการสื่อสาร

อ่าน เจตนาในการสื่อสาร ในบทเรียนหน้า 140-141 และทำแบบฝึกหัดต่อไปนี้
อ่านบทความและหาประโยคให้ตรงว่าเจตนาในการสื่อสารคืออะไร

วัลยา แห่ง “ความรักของวัลยา” สาวมั่นยุค 2490 ผู้แหวกม่านประเพณีสู่สังคมก้าวหน้า

ความรักที่เป็นเพียงความสุข หรือไม่ก็ความใคร่ของคน ๆ หนึ่ง หรืออย่างมากที่สุดสองคนเท่านั้น เป็นความรักอย่างแคบ ความรักของคนเราควรจะขยายกว้างออกไปถึงชีวิตอื่น ถึงประชาชนทั้งหลายด้วย ชีวิตของคนเราจึงจะมีคุณค่าและมีความหมายไม่เสียทีที่เกิดมา ดิฉันจึงว่า หากชีวิตเรามีความรัก และความรักนั้นสามารถผลักดันชีวิตของคนเราให้สูงส่งยิ่งขึ้นกว่าชีวิตของสิ่งอื่น นกมันอาจจะร้องเพลงได้เมื่อมันนึกอยากจะร้อง โดยไม่คำนึงถึงความทุกข์ยากของชีวิตนกอื่น ๆ แต่คนเราไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น”

“ความรักของวัลยา” เป็นหนึ่งในผลงานชิ้นสำคัญของ เสนีย์ เสาวพงศ์ นักคิด นักเขียน และปัญญาชนคนสำคัญของไทยที่มีบทบาทสำคัญกับความเคลื่อนไหวทางปัญญาในช่วงทศวรรษ 2490 “ความรักของวัลยา” ตีพิมพ์เป็นตอน ๆ ในนิตยสารสยามสมัย ในปี 2495 ก่อนรวมพิมพ์ครั้งแรกในปี 2496 โดยสำนักพิมพ์รวมสาส์น

ชื่อเรื่องที่ชวนให้ดูเป็นนวนิยายความรักหวานแหวว โรมานซ์จนเบาหวานขึ้นอาจเป็นสิ่งที่หลอกตาผู้อ่านหลายคน เพราะแท้ที่จริงแล้ว วัลยา ไม่ใช่ผู้หญิงตามขนบนิยมอย่างที่เคยเป็นมา ทั้งในความเป็นวรรณกรรมและในความเป็นผู้หญิงที่สังคมสร้างขึ้น และประทับตราให้กับผู้หญิงทุก ๆ คน นอกจากวัลยาจะไม่ใช่ผู้หญิงเช่นนั้นแล้ว เธอยังต่อต้านความเป็นผู้หญิงแบบที่เคยเป็นมาในประวัติศาสตร์สังคมอีกด้วย!

“’เราอยู่ในครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 แล้ว แต่ยังมีผู้ชายเป็นอันมากมีความคิดเหมือนในสมัยกลาง ถือว่าผู้หญิงเป็นอะไรบางอย่างที่ต่ำต้อยกว่า และถือว่าเมียของเขาคนเดียวหรือหลายคนก็แล้วแต่ เป็นสมบัติส่วนตัวอย่างหนึ่ง และไม่มีสิทธิอิสระที่จะคิดจะทำอะไรได้…แต่ทุกวันนี้เป็นชั่วโมงสำคัญของการตั้งต้นอันยิ่งใหญ่’ เธอเน้นเสียงชัดถ้อยชัดคำด้วยความตระหนักและเชื่อมั่นในสิ่งที่เธอพูด ‘การก่อเกิดและจำเริญขึ้นของอุดมคติใหม่ ซึ่งจะทลายบานประตูที่สนิทมาตั้งแต่เดิมนั้นให้เปิดกว้างออกสำหรับมวลมนุษยชาติ…'”

ในแง่ความเป็นนางเอกในวรรณกรรมไทย วัลยาแตกต่างไปจากนางเอกในวรรณกรรมเรื่องอื่น ๆ อย่างชัดเจน เพราะวัลยามีลักษณะของผู้หญิงยุคใหม่ ที่ไม่ยอมรับบทบาทและหน้าที่ของผู้หญิง “ที่ควรจะเป็น” ตามแบบฉบับของสังคมแบบเก่าที่ต้องการให้ผู้หญิงนั้นเป็น “แม่” และ “เมีย” ที่ดี นอกจากนี้ยังมีสถานะเป็นสมบัติของผู้ชายอีกด้วย

คุณลักษณะดังกล่าวสอดคล้องกับแนวคิดเรื่อง “ผู้หญิงแบบใหม่” (new woman) ที่เกิดขึ้นในโลกตะวันตกมาตั้งแต่ช่วงปลายศตวรรษที่ 19 และยังส่งอิทธิพลที่สำคัญต่อแนวคิดและขบวนการสตรีนิยมในศตวรรษที่ 2จ นอกจากความเป็น “ผู้หญิงแบบใหม่” แล้ว วัลยายังมีแนวคิดที่สอดคล้องกับแนวคิด “สังคมนิยม” อีกต่างหาก

วัลยาไม่ใช่นางเอกวรรณกรรมที่มีพื้นฐานมาจากครอบครัวขุนน้ำขุนนางเก่าที่สามารถสืบย้อนเชื้อสายไปได้หลายชั่วอายุคน เธอไม่ใช่ลูกคหบดี ข้าราชการ รัฐมนตรีใด ๆ แต่มาจากครอบครัวสามัญที่ค่อนข้างจะยากจนเสียด้วยซ้ำ วัลยาเป็นคนฉลาดและเรียนเก่ง ทำให้เธอมีโอกาสได้ทุนร่ำเรียนดนตรีอยู่ที่ปารีสนี้เอง

สิ่งที่น่าสนใจในตัวละครวัลยาก็คือ การเป็นคนที่สามารถเห็นว่าอะไรคือคุณลักษณะของสังคมแบบเก่า และอะไรคือหนทางที่นำไปสู่สังคมแบบใหม่ กล่าวคือวัลยายืนอยู่ตรงกลางระหว่างสังคมแบบเก่ากับแบบใหม่ ตลอดทั้งเรื่องเธอพยายามชี้ให้เพื่อน ๆ ตลอดจนผู้อ่านได้เห็นว่า สังคมแบบเก่านั้น “ล้าหลัง” อย่างไร ซึ่งแตกต่างจากสังคมแบบใหม่ อันเป็นสังคมที่เปิดกว้างสำหรับมวลมนุษยชาติ สังคมที่โอบกอดมนุษย์ทุกคนด้วยความโอบอ้อมอารีอย่างที่สุด

วัลยาคือผู้หญิงในอุดมคติของโลกสมัยใหม่ ซึ่งหมุดหมายแห่งความหวังของผู้คน เธอเห็นว่า สิ่งที่เป็นตัวฉุดรั้งไม่ให้สังคมพัฒนาก้าวหน้าไปได้ก็คือ ขนบ ธรรมเนียม ประเพณีและจารีตแบบเก่าของสังคม และยังเป็นโซ่ตรวนที่ขังผู้คนเอาไว้ให้อยู่ในกาลเวลาที่ไม่อาจเปลี่ยนเปลงไปได้ เพราะธรรมเนียมประเพณีเหล่านั้นไม่สามารถปรับเปลี่ยนตัวเองเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

ดังที่วัลยาวิจารณ์ “สุภาษิตสอนหญิง” ของสุนทรภู่ ในฐานะที่เป็นวรรณกรรมในสังคมระบอบศักดินา ที่สะท้อนให้เห็นถึงสภาพของหญิง เธอวิจารณ์สุนทรภู่ว่าเป็นนักกลอนที่ดี แต่เป็นนักศีลธรรมที่ไม่ “ก้าวหน้า” เพราะ “ไม่สามารถมองเห็นสภาพอนาคตที่ดีกว่าเก่า” มองไม่เห็นวิวัฒนาการของชีวิตและสังคมว่าจะสามารถคลี่คลายไปในทิศทางใดได้บ้าง ดังนั้น “นักศีลธรรมจึงเทิดทูนระเบียบ จารีต ประเพณีของระบอบสังคมเก่าของตน” ซึ่งเป็นหลักศีลธรรมที่เก่า ไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นได้ เมื่อความสัมพันธ์ทางสังคมเปลี่ยนแปลงไปแล้ว จารีตประเพณีเหล่านี้ก็ล้าสมัย “สาบสูญไปตามสมัย”

นอกจากนี้ วัลยายังเป็นแรงผลักดันให้ผู้หญิงลุกขึ้นมาสู้ เพื่อแสดงให้เห็นศักยภาพของผู้หญิงที่ไม่จำเป็นต้องอยู่ภายใต้อาณัติของผู้ชาย เช่น เธอพยายามช่วยเหลือให้เตือนตาลุกขึ้นมาสู้กับชะตากรรมที่ต้องอยู่ภายใต้สามีอย่างไพจิตร์ ที่แต่งงานกับเตือนตาเพียงเพราะต้องการไต่เต้าไปสู่ชีวิตที่ดีกว่า เพราะพ่อของเตือนตานั้นคือหนึ่งในคณะผู้เปลี่ยนแปลงการปกครองและยังมีอิทธิพลในวงการการเมือง แต่เมื่อพ่อของเตือนตาหมดอำนาจลงพร้อม ๆ กับที่เตือนตากำลังตั้งครรภ์ ไพจิตร์ก็เริ่มทำตัวเหินห่างจากเตือนตา เตือนตาพยายามพะเน้าพะนอ เอาอกเอาใจสามีด้วยเชื่อว่านั่นคือหน้าที่ของเมียที่ดี แต่ผลที่ได้ก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ไพจิตร์ยังคงรู้สึกรำคาญและเหม็นหน้าเตือนตา

เตือนตารู้สึกเป็นทุกข์มาก จนกระทั่งเมื่อเตือนตาแท้งบุตร วัลยาอดรนทนไม่ได้เพราะรู้สึกว่าเตือนตาควรหลุดพ้นจากความอยุติธรรมนี้เสียที วัลยาพยายามหาหนังสือให้เตือนตาอ่าน เพื่อกระตุ้นความรู้สึกที่ว่าผู้หญิงนั้นไม่จำเป็นต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของผู้ชาย ตลอดจนการพูดคุยกันในหลาย ๆ ครั้ง วัลยาให้ความเชื่อมั่นในศักยภาพของผู้หญิงให้กับเตือนตา หลังจากนั้น เตือนตาก็กลับบ้านไปบอกเลิกไพจิตร์ผู้คิดถึงแต่อนาคตของตัวเอง โดยที่ไม่ขอสินสมรสใด ๆ แม้แต่แดงเดียว

“ความรักของวัลยา” ไม่ได้มีความหมายในทางชู้สาวเท่านั้น แต่มันคือความรักที่มีต่อมวลมนุษยชาติ ความปรารถนาที่จะปลดปล่อยมนุษย์ออกจากกรงและกำแพงของจารีตประเพณี ที่กักขังและหยุดยั้งไม่ให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ขัดขวางการพัฒนาไปสู่สังคมที่ดีกว่า สังคมที่ปราศจากการกดขี่ขูดรีด

ในแง่หนึ่งเราอาจพิจารณาวัลยาได้ว่า เธอคือตัวแทนของอนาคตอันสดใสและรุ่งโรจน์ที่กำลังจะมาถึง วัลยาคืออุดมคติของการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งสังคมแห่งความก้าวหน้า สังคมที่ทุก ๆ คนจะสร้างยุคใหม่ที่ดีกว่าอดีตอันล้าหลังและคร่ำครึ เราอาจกล่าวได้อีกว่า ในบรรดาวรรณกรรมไทยทั้งที่มีแนวคิด “ก้าวหน้า” หรือ “โรมานซ์” ก่อนหน้านี้ต่างก็ไม่เคยให้ผู้หญิงมีบทบาทสำคัญในการนำความเปลี่ยนแปลงที่ดีกว่ามาสู่สังคม จนกระทั่งปรากฏนวนิยายที่ชื่อว่า “ความรักของวัลยา”

“…วัลย์จะรักและแต่งงานกับผู้ชายที่ทำงานอย่างแท้จริง ไม่ใช่เพื่อตัวเขาเอง หรือเพื่อฐานะของตัวเอง เพื่อความเด่น หรือเพื่อที่จะให้เป็นที่นับถือของคนอื่น แต่เป็นคนที่ทำงานเพื่องานและเพื่อโลกที่เขาเกิดมา ผู้ชายที่เป็นส่วนหนึ่งของเครื่องจักรกลมหึมาที่กำลังสร้างยุคใหม่ของอนาคต ไม่ใช่ผู้ชายที่เกาะอยู่กับดุมหรือฟันเฟืองของมันเฉย ๆ หาความสุขส่วนตัวไปชั่ววันหนึ่ง ๆ และตายไปเมื่อถึงเวรของตัวเองโดยมิได้ทิ้งร่องรอยอะไรไว้เบื้องหลัง”

 

เรื่อง: ปลายสิงห์ ขาวปลอด (พบเรื่องราวหลากหลายสีสันเกี่ยวกับวรรณคดีไทย ที่สรรหาเรื่องมาเล่าทุกสัปดาห์ด้วยสำนวนภาษาสนุกสนานจัดจ้านได้ที่ เพจคดีไม่มีวรรณะ)

บอกเล่าเรื่องราวหรือให้ข้อมูล

ถามเพื่อต้องการข้อมูล

แนะนำ สั่ง หรือบอกให้ทำ

แสดงความคิดเห็น

แสดงอารมณ์หรือความต้องการ