การเขียนเชิงพรรณนา และการอ่านจับใจความ

การอ่านจับใจความ

อ่านบทสัมภาษณ์ เห็นต่างทางการเมืองแล้วทำร้ายกันได้เหรอ ?
(
https://urbancreature.co/political-differences/)

แล้วทำความเข้าใจการจัดกลุ่มคนในสังคมเป็นสามรุ่น ของอาจารย์ กนกรัตน์ และตอบคำถามข้างล่าง

 

....3 รุ่นเห็นต่าง: สงครามเย็น, งงๆ ธิปไตย, โบว์ขาว

 

ขอปูพื้น ‘รุ่น’ หรือ ‘เจนเนอเรชัน’ ให้ทุกคนเข้าใจก่อนว่า การอธิบายการเติบโตทางความคิดทางการเมืองครานี้ไม่ใช่ Baby Boomer, Gen-X, Gen-Y หรือ Gen-Z แต่เป็นรุ่นสงครามเย็น, งงๆ ธิปไตย และโบว์ขาว ที่นิยามโดยอาจารย์กนกรัตน์ ซึ่งฟังแล้วจะรู้เลยว่า จุดยืนทางการเมืองคน 3 รุ่น นั้นต่างกันราวฟ้ากับดิน 

01 รุ่นสงครามเย็น “พวกเราไม่ไว้ใจประชาธิปไตย” – อาจกล่าวได้ว่าคนรุ่นนี้คือกลุ่ม Baby Boomer (เกิดปี 2489-2507) ที่ใช้ชีวิตในยุคสงครามเย็น มีทั้งฝั่งซ้ายจัดและขวาจัด ซึ่งไม่ว่าฝั่งไหน ล้วนมี ‘อนุรักษ์นิยม’ เป็นตัวขับเคลื่อนชีวิต… “อย่างไร ?” ฉันถามอาจารย์กนกรัตน์ ได้ความว่า

1. กลัวการเปลี่ยนแปลงและไม่ตั้งคำถาม เพราะลงหลักปักฐานแล้วในปี 2520 หลังจากนั้นเศรษฐกิจก็โตขึ้นมาอีก 40 ปี อเมริกาให้การสนับสนุนด้าน Infrastructure พึ่งพาธุรกิจแรงงาน ไม่มีนวัตกรรมหรือความคิดสร้างสรรค์มาเอี่ยว จบปริญญาตรีชีวิต Happily Ever After มีงานทำ ง่ายๆ “โครงสร้างไม่เปลี่ยนกูก็ไม่เดือดร้อน” (แต่เยาวชนยุคนี้ มีเกียรตินิยมก็ไม่ได้งานดีไงล่ะ)

2. ไม่ไว้ใจประชาธิปไตย เพราะกลัวประชาธิปไตยทำให้คนยากจนได้ลืมตาอ้าปาก หรือทำให้คนไร้การศึกษาได้รับการศึกษา จนขึ้นมาทัดเทียมผู้มีอำนาจ (ซึ่งจริงๆ ทุกคนก็ควรเท่ากันหนิ)

3. มองโลกทัศน์แบบลำดับชั้น ไม่เชื่อเรื่องความเท่าเทียม ยกตัวอย่างให้เห็นภาพก็แนวคิดผู้หญิงมีความสามารถไม่เท่าผู้ชาย การไหว้บรรพบุรุษ การกตัญญูคือจุดสูงสุด ผู้ใหญ่ถูกเสมอ อะไรที่ผิดแปลกจากแนวคิดที่ว่าจะสร้างความวุ่นวาย ซึ่งบางคนอาจจะชอบประชาธิปไตย แต่ก็ยังไม่เชื่อความเท่าเทียมทางเพศหรือลำดับชั้น เลยไม่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยอยู่ดี

02 รุ่นงงๆ ธิปไตย “ถูกสอนให้อยู่ในกรอบ แต่อยากให้ลูกออกนอกกรอบบ้าง แต่ไม่ออกก็ดี” – เมื่อมาถึงรุ่นนี้อาจารย์กนกรัตน์เผลอหลุดขำขึ้นมาเล็กน้อย เพราะถือเป็นรุ่นที่ย้อนแย้งอยู่พอควร (อายุสัก 40-50 ปีต้นๆ) เพราะเป็นรุ่นที่เติบโตมากับการเลี้ยงดูของคนสงครามเย็น ปลูกฝังว่าต้องทำงานหนัก ห้ามเถียงผู้ใหญ่ ต้องทำตามกฎในโรงเรียน แต่ ! เวลาลูกตั้งคำถาม (เรื่องอื่นที่ไม่ใช่การเมือง) ดันตื่นเต้น ปลื้มที่ลูกมองโลกกว้าง อยากให้ลูกเป็นตัวของตัวเอง กล้าแสดงออก จึงมีความงงๆ ตามชื่อ เหมือนจะเปิดแต่ก็ยังปิด

03 รุ่นโบว์ขาว “เรามีสิทธิ์กำหนดอนาคตตัวเอง” – เยาวชนที่อยู่บนท้องถนนและคนที่ไม่ได้อยู่แต่ขับเคลื่อนสังคม โดยมีจุดหมายเหมือนกันคือการคว้าประชาธิปไตยกลับมา เพราะมองไม่เห็นด้วยซ้ำว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร เรียนจบออกไปจะมีอนาคตที่ดีไหม เนื่องด้วยการผูกขาดนายทุนที่ไม่เอื้อให้คนตัวเล็กลืมตาอ้าปาก ถึงแม้การเลี้ยงดูของรุ่นนี้จะมาจากคน 2 กลุ่มข้างต้น แต่เมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยนไป คนรุ่นนี้เข้าถึงข้อมูลได้เร็ว มีความรู้ทางการเมือง ตระหนักถึงปัญหาความยากจนทางเศรษฐกิจ และความเหลื่อมล้ำในสังคมแทบทุกด้าน และมี Political Action ตลอดเวลา ทั้งการตามข่าวทางทวิตเตอร์ และสามารถคัดกรองข่าวปลอม ทำให้พวกเขามีความมั่นใจในตัวเอง และไม่คิดว่าลำดับชั้นแบบเดิมจะแก้ไขปัญหาที่คนเผชิญอยู่ได้.....


ตอบคำถามต่อไปนี้
1) อธิบาย รุ่น 01 ตามความเข้าใจของนักเรียน
2) อธิบาย รุ่น 02 ตามความเข้าใจของนักเรียน
3) อธิบาย รุ่น 03 ตามความเข้าใจของนักเรียน
4) คิดว่าการแบ่งคนออกเป็นสามรุ่น นั้นถูกต้องหรือไม่ อย่างไร ให้อธิบาย
5) นักเรียนอยู่ในรุ่นไหน หรือ ไม่ อย่างไร
6) แสดงความเห็นว่าทำอย่างไรที่ทั้งสามรุ่นจะอยู่ร่วมกันในสังคมได้