การอ่านจับใจความ

การอ่านจับใจความ

อ่านบทความ แล้วตอบคำถามด้านล่าง
มีดีกว่าดอกป๊อปปี้ยักษ์ ปันความสุข Marimekko สัญลักษณ์เท่าเทียมทางเพศ
(บทความจาก หนังสือพิมพ์ ไทยรัฐฉบับพิมพ์ 27 มิ.ย. 2563 05:01 น.)

ถ้าพูดถึงแบรนด์ “Marimekko” คนส่วนใหญ่จะนึกถึงความสุขสดใสเยาว์วัย และมีชีวิตชีวา แต่อันที่จริงแล้ว แบรนด์เก่าแก่สัญชาติฟินแลนด์ยังเป็นสัญลักษณ์การปฏิวัติวงการแฟชั่นโลก โดยเฉพาะยุคทศวรรษ 1950-1970 ที่อยู่ภายใต้บังเหียนอาร์มี ราเทีย” ผู้เคยประกาศว่า ไม่เอาลายพิมพ์ดอกไม้ เพราะดอกไม้ในธรรมชาติสวยงาม เกินกว่าจะเป็นลายพรินต์ แต่สุดท้ายก็ใจอ่อนให้กับลายพิมพ์ดอกป๊อปปี้ยักษ์ในตำนาน “Unikko” ที่ดีไซเนอร์มือหนึ่งของมารีเมกโกะ “ไมยา อิโซลา” ออกแบบไว้เมื่อปี 1964 เพื่อท้าทายนายหญิง

ตำนานของ มารีเมกโกะเริ่มขึ้นเมื่อ “อาร์มี ราเทีย” สาววงการโฆษณาหัวทันสมัย ร่วมกับสามี “วิลิโย” เปิดโรงงานพิมพ์ลายผ้าเล็กๆ “พรินต์เท็กซ์” ที่เฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ เมื่อปี 1949 โดยตั้งใจฟื้นชีวิตชีวา และความหวังให้ผู้คน
ในเมืองเหน็บหนาวหดหู่หลังสงคราม ด้วยลายผ้าสีสันสดใส งานนี้เธอชักชวนศิลปินรุ่นใหม่ร่วมดีไซน์ลวดลายแปลกใหม่ลงบนผืนผ้า โดยใช้กระบวนการพิมพ์ลายผ้าด้วยมือทั้งหมด
ปรากฏว่าผลตอบรับถล่มทลาย ลายผ้าจากฝีมือออกแบบของอาร์มีและทีมดีไซเนอร์ เป็นที่ชื่นชอบของชาวฟินแลนด์ แต่ไม่มีใครกล้าซื้อแม้แต่คนเดียว เพราะนึกไม่ออกว่าจะเอาไปดีไซน์อย่างไร กระทั่งอาร์มีตัดสินใจจัดแฟชั่นโชว์ที่โรงแรมแห่งหนึ่ง เพื่อเผยให้เห็นความกิ๊บเก๋ของผืนผ้าเมื่อตัดเย็บเป็นเสื้อผ้า เชื่อไหมว่าเสื้อผ้าทุกตัวถูกจับจองจนหมดเกลี้ยง และชื่อเสียงของ “มารีเมกโกะ” ก็ขจรขจาย ออกไปนับตั้งแต่วันนั้น
ถึงจะโด่งดังไปทั่วประเทศขนาดไหน แต่ “มารีเมกโกะ” เพิ่งเป็นที่รู้จักในระดับโลก เมื่อสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของอเมริกา “แจ็คเกอลีน เคนเนดี” ซื้อชุดมารีเมกโกะทีเดียว 7 ชุด และใส่ขึ้นปกนิตยสารสปอร์ตส์ อิลลัสเตรท เมื่อปี 1960 ทำให้แบรนด์บ้านๆจากฟินแลนด์ดังเป็นพลุแตกในชั่วข้ามคืน โดยเฟิสต์เลดี้คนดังให้เหตุผลว่า ที่เลือกชุดของมารีเมกโกะแทนแบรนด์เนมยุโรป เพราะเชื่อว่าความเรียบง่ายคือความสวยงามที่แท้จริงไม่จำเป็นต้องใส่เสื้อผ้าแบรนด์ดังราคาแพงก็สวยได้
ภายใต้ความเรียบง่ายมินิมัลลิสต์ และเป็นธรรมชาติ “มารีเมกโกะ” ยังเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นขบถ, หัวก้าวหน้า, คิดนอกกรอบ, การปลดแอก และการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมทางเพศ ซึ่งล้วนสะท้อนตัวตนของ “อาร์มี ราเทีย” ปรากฏให้เห็นจากการออกแบบเชิ้ตตัวยาวที่ใส่ได้ทั้งหญิงชาย และชุดสำเร็จรูปทรงหลวมปล่อยสบายแทนการผูกรัดตึงเข้ารูปตามสมัยนิยมเดิม พร้อมบุกเบิกการสร้างสรรค์ลวดลายแนวเหนือจริง และใช้เอกลักษณ์ในวัฒนธรรมท้องถิ่นผสมกับทิวทัศน์ชนบท และความงามตามธรรมชาติในวิถีฟินแลนด์
หากลายเส้นตรงจากแปรงทาสี “Piccolo” ที่ออกแบบไว้เมื่อปี 1953 โดย “วูอกโกะ เอสกอลินนูร์เมสเนียมี” คือสัญลักษณ์ความเท่าเทียมทางเพศ ลายดอกป๊อปปี้ ยักษ์ “Unikko” ฝีมือ “ไมยา อิโซลา” ก็ เป็นลวดลายประจำชาติที่ทำให้ชาวโลกหลงรัก ฟินแลนด์ เดิมทีเดียวอาร์มีตั้งกฎเหล็กไม่เอาลวดลายดอกไม้เด็ดขาด เพราะอยากให้มารีเมกโกะมีความเท่าเทียมทางเพศใช้ได้ทั้งหญิงชาย แต่ด้วยความดื้อ ของไมยา เธอตัดสินใจ วาดดอกป๊อปปี้ยักษ์เพื่อท้าทายคำสั่ง!! ปรากฏว่าอาร์มีหลงรักดอกป๊อปปี้ยักษ์ และขอนำลายไปพิมพ์ ผ้าทันที ความใจกว้าง ของอาร์มีทำให้ดอกป๊อปปี้ยักษ์บานสะพรั่ง ถึงทุกวันนี้ ยังไม่นับรวมอีกสารพัดลวดลาย ฮิตติดตำนาน เช่น ลายจุดยักษ์ “Pallo”, ลายก้อนหิน “Kivet” และลายบ่อน้ำ “Kaivo
อาร์มีกล่าวเสมอว่า มารีเมกโกะไม่ได้ขายเสื้อผ้าแฟชั่น แต่เราขายวิถีชีวิต และความคิดสร้างสรรค์ เพื่อสะท้อนความเป็นอยู่ที่เรียบง่ายของคนฟินแลนด์ ที่ยังยิ้มสู้ได้แม้ต้องทน กับความเหน็บหนาวหดหู่เกือบตลอดทั้งปี ความจริงใจไม่เสแสร้งนี่เองคือเสน่ห์ที่ทำให้ใครๆก็หลงรัก Marimekko.

1) ลักษณะเด่นของ มารีเมกโกะ คืออะไร
2) อธิบายทำไม มารีเมกโกะ ถึงได้มีชื่อเสียงโด่งดังไประดับโลก
3) อธิบายทำไม มารีเมกโกะ ถึงได้มีลายดอกไม้
4) มารีเมกโกะ ในความคิดของ อาร์มี่ คือ อะไร
5) ทำไม มารีเมกโกะถึงพยายามนำเสนอว่าเป็นสัญญลักษณ์ของความเท่าเทียมทางเพศ
6) อธิบายความเห็นของนักเรียนเกี่ยวกับ มารีเมกโกะ